รับมือให้ทัน สภาวะตกหลุมอากาศ


Air Turbulence
หลุมอากาศ คืออะไร?
หลุมอากาศ หรือ Air Turbulence เป็นสภาวะที่อากาศมีการเคลื่อนไหวแบบไม่เป็นระเบียบ ทำให้เครื่องบินสั่นหรือเขย่าได้ หลายคนอาจรู้สึกเหมือนนั่งรถแล้วเจอลูกระนาดขนาดยักษ์! หลุมอากาศเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยระหว่างการบิน สาเหตุมาจากการที่เครื่องบินบินผ่านพื้นที่ที่มีกระแสลมเปลี่ยนแปลง ความแปรปรวนของอุณหภูมิ หรือเจอเมฆคิวมูโลนิมบัส (เมฆฝนฟ้าคะนองที่ชอบทำให้เครื่องบินโยกแรงๆ) รวมถึงการบินผ่านภูเขาหรือพื้นที่สูงก็ทำให้เกิดหลุมอากาศได้เช่นกัน

อันตรายแค่ไหน?
ความจริงแล้ว หลุมอากาศไม่ได้อันตรายถึงชีวิต แต่ก็ทำให้ผู้โดยสารรู้สึกไม่สบายหรือกลัวได้ ถ้าไม่คาดเข็มขัดนิรภัยก็มีโอกาสบาดเจ็บจากการโยกของเครื่องบิน หรือโดนของจากที่เก็บกระเป๋าหล่นใส่หัวเอาได้!

วิธีป้องกันในฐานะผู้โดยสาร
แม้ว่าหลุมอากาศจะคาดเดาไม่ได้ แต่เราก็สามารถเตรียมตัวรับมือได้ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้
- คาดเข็มขัดนิรภัย นี่คือวิธีที่ง่ายและสำคัญที่สุด! ควรคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาที่นั่งอยู่ ไม่ว่าจะมีไฟสัญญาณหรือไม่ เพราะหลุมอากาศอาจมาเมื่อไหร่ก็ได้
- หลีกเลี่ยงการเดินไปมา ถ้าเจอหลุมอากาศแล้วลุกขึ้นยืน มีโอกาสสูงที่คุณจะเสียการทรงตัวและล้มได้ ดังนั้น ควรนั่งอยู่ที่เดิมจนกว่าเครื่องบินจะนิ่ง
- ทำตามคำแนะนำของลูกเรือ เมื่อเกิดหลุมอากาศ ลูกเรือจะมีคำแนะนำในการปฏิบัติตน ดังนั้น ควรฟังและทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
- จัดเก็บของให้เรียบร้อย เก็บกระเป๋าและของที่อาจตกลงมาไว้ในช่องเก็บของด้านบนหรือใต้ที่นั่ง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากสิ่งของที่ตกหล่น
ถ้าคุณทำตามคำแนะนำเหล่านี้ คุณจะสามารถเดินทางด้วยความปลอดภัยและสบายใจขึ้นได้อย่างแน่นอน
จากสภาพอากาศที่แปรปรวน เครื่องบินตกหลุมอากาศเป็นเหตุที่เกิดขึ้นได้ แล้วเราในฐานะผู้โดยสารจะสามารถเอาตัวรอดกับเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร?
มาร่วมพูดคุยกับพวกเรา KMITL Expert พร้อมกับ คุณศุภกฤษฎ์ บุณยรัตพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมการบิน วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ ที่จะมาไขข้อสงสัยกับเหตุการณ์ในครั้งนี้
Writer
Nathaphan Mohjoh - Gigi
Content Writer
Public Relations and Corporate Communications Office - สำนักงานสื่อสารองค์กร