Thermal Overload Relays กับการใช้งานจริง

หลังจากที่ฝนได้ตกหนักมาหลายวันทำให้ต้องตรวจสอบการทำงานของปั๊มน้ำเพื่อรองรับฝนที่กำลังจะเทกระหน่ำลงมา โดยที่ผ่านมาได้มีเหตุการณ์ที่ทำให้กังวลใจ เนื่องจาก ตู้ควบคุมปั๊มน้ำขนาดใหญ่ ตั้งการทำงานอัตโนมัติไว้ แต่ปรากฏว่า Thermal Overload Relays เกิดอาการ Trip และระบบปั๊มไม่สามารถทำงานต่อได้ เหตุการณ์นี้ได้เกิดมาแล้ว 2 ครั้ง พอมาวันนี้ช่วงเช้า น้ำเอ่อขึ้นบนปากท่อระบายน้ำ คราวนี้คงไม่ใช่เรื่องปกติแล้ว และก็เป็นจริง Thermal Overload Relays เกิดอาการ Trip เช่นเคย ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักอุปกรณ์ตัวนี้กันก่อน

โอเวอร์โหลด (Over Load Relay) เป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญในการป้องกันไม่ให้อุปกรณ์ไฟฟ้าและมอเตอร์เกิดความเสียหายจากการทำงานที่มีกระแสไฟฟ้าเกินพิกัด ในการใช้งานมอเตอร์จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่สามารถตรวจจับและป้องกันกระแสเกิน ซึ่งอุปกรณ์นั้นคือโอเวอร์โหลด โดยมีหน้าที่หลักในการป้องกันมอเตอร์จากการเสียหายอันเนื่องมาจากกระแสไฟฟ้าที่เกินกว่าค่าที่กำหนด
โอเวอร์โหลดทำงานโดยการตรวจสอบกระแสที่ไหลผ่านมอเตอร์ หากพบว่ามีกระแสเกินกว่าค่าที่ตั้งไว้ อุปกรณ์จะตัดกระแสไฟฟ้าออกจากมอเตอร์ทันทีเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเผาไหม้ของมอเตอร์หรือการทำงานที่ผิดปกติ อุปกรณ์โอเวอร์โหลดจึงเป็นตัวช่วยสำคัญในการรักษาความปลอดภัยและยืดอายุการใช้งานของมอเตอร์และอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ
การติดตั้งโอเวอร์โหลดในระบบไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้ใช้งานมอเตอร์และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าอุปกรณ์เหล่านั้นจะได้รับการป้องกันจากการเกิดกระแสเกิน และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงสุดครับผม
และมาดูของจริงที่เกิดปัญหากันครับ

รูปหน้าตู้ที่พบไฟ Overload ติด แสดงว่ามีการ Trip ของอุปกรณ์ Thermal Overload Relays เป็นตัวที่ 2 ซึ่งตั้ง Auto ไว้ ตู้จะสั่งให้มอเตอร์ปั๊มสูบน้ำของตัวที่ 2 ทำงานก่อน เมื่อ Trip ก็ไปต่อไม่ได้ พอไม่สูบ น้ำก็ท่วม ทั้งที่มอเตอร์ตัวที่ 1 ทำงานได้ดีก็ตาม หลังจากนั้นเปิดตู้ดูเพื่อรีเซ็ท Thermal Overload Relays แต่ 3 รอบแล้ว ต้องมีอะไรผิดปกติแน่ๆ


จากรูป รูปขวา Thermal Overload Relays ของปั๊มตัวแรก ทำไมตั้งไว้ 100A แต่ทำไมรูปซ้ายตั้งไว้แค่ 65A ก็เลยลองเดินเครื่องเพื่อดูพิกัดกระแสจริงๆ หลังจากกด Reset ให้มอเตอร์ปั๊มทำงานได้ก่อน

และก็เป็นไปตามคาด มอเตอร์กินกระแสจริงๆ 80A สรุปคือตั้งไว้น้อยไปหน่อย พอถึงจุดหนึ่งก็จะ Trip ตัดการทำงานของระบบ หลังจากที่ทราบดังนี้แล้ว ก็ทำการปรับให้อยู่ในพิกัดประมาณ 90A ดังรูปถัดไป
หลังจากทดลองใช้ยังยังไม่แสดงอาการ Trip ให้เห็น เนื่องจากเครื่องปั๊มได้มีการซ่อมบำรุงก่อนหน้านี้ทั้งระบบ ไม่กี่ปีที่ผ่านมา
สรุป
Thermal Overload Relays มีความสำคัญในการป้องกันมอเตอร์เสียหาย เมื่อมอเตอร์ทำงานผิดปกติ จึงจำเป็นต้องสังเกตุ และตั้งค่าให้เหมาสมต่อการใช้งานนะครับ
อ้างอิง
MITSUBISHI ELECTRIC Global website magnetic motor starters and magnetic contactors