อะไรไม่รู้ แต่ฉันไม่ผิด

ในโลกที่เต็มไปด้วยการสื่อสาร ความเข้าใจไม่ได้มาจากคำพูดเพียงอย่างเดียว แต่มาจากความตั้งใจเบื้องหลังด้วย การโทษใครสักคนอาจเป็นการปกป้องตัวเอง แต่สิ่งที่เราลืมคือความรู้สึกของคู่สนทนา คำเพียงเล็กน้อย อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดรอยร้าวโดยไม่รู้ตัว

อะไรไม่รู้ แต่ฉันไม่ผิด

ย้อนกลับไปสมัยที่ผมเพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ หน้าที่ของผมมักจะต้องประสานงานกับองค์กรภายนอก ซึ่งบ่อยครั้งที่ต้องส่งเอกสารหรือไฟล์งานไปให้พวกเขาผ่านพนักงานส่งเอกสาร แล้วก็ต้องขอคืนของเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นแผ่น CD หรืออุปกรณ์จิปาถะต่างๆ

แล้วบางครั้งเมื่อผมยังไม่ได้รับของคืน ก็ต้องโทรไปสอบถามอยู่เสมอ แต่เรื่องที่ทำให้ผมรู้สึกทั้งขำและหงุดหงิดในตอนนั้นคือ พอผมโทรไป อีกฝ่ายมักจะบอกว่า “ส่งคืนแล้วนี่คะ?” ซึ่งฟังแล้วก็งงๆ เพราะของยังไม่กลับมาถึงมือผมเลย แต่ที่พีคกว่านั้นคือบางครั้งจะตามมาด้วยประโยคอย่าง “หาดูดีๆ หรือยังคะ” แล้วพอผ่านไปไม่กี่วัน ของที่ผมตามหาก็จะถูกส่งคืนมาจริงๆ

เคยเจออะไรแบบนี้กันบ้างไหมครับ? 😄 ที่อาจเผลอปฏิเสธหรือโยนความผิดให้คนอื่นไว้ก่อน ทั้งที่ยังไม่ได้ตรวจสอบให้ละเอียด การทำแบบนี้นอกจากจะทำให้เรื่องยิ่งซับซ้อนขึ้นแล้ว ยังอาจทำให้ทั้งเราและคนอื่นรู้สึกแย่ได้โดยไม่จำเป็น

การตำหนิผู้อื่นอยู่เสมอ มักจะเกิดจากหลายสาเหตุ บางทีเราอาจรู้สึกผิดหวังในตัวเอง ไม่อยากยอมรับว่าตัวเองมีส่วนผิด ก็เลยโยนความผิดให้คนอื่นแทน หรือบางครั้งอาจเป็นเพราะเราเคยชินกับการเห็นคนรอบข้างทำแบบนี้มาก่อน ทำให้เรารู้สึกว่า การโทษคนอื่นช่วยให้เราสบายใจขึ้นในตอนนั้น แต่จริงๆ แล้ว มันเป็นแค่การหนีความจริงเท่านั้นเอง

เมื่อเราโทษคนอื่น ผลที่ตามมาคือความสัมพันธ์ที่เริ่มห่างเหินจากความไว้วางใจลดลง รวมถึงความเข้าใจที่ลดน้อยลง

การโทษคนอื่น คือการบอกอีกฝ่ายว่า "เธอผิด ฉันไม่เกี่ยว" ซึ่งทำให้คนที่ถูกตำหนิรู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า หรือแย่ยิ่งไปกว่านั้นคือ รู้สึกว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้ถูกต้องเลย

แล้วถ้าเราเป็นคนตำหนิคนอื่นล่ะ? การตำหนิคนอื่นบ่อยๆ ทำให้เราไม่เติบโต เพราะเราไม่ได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตัวเอง เราไม่พัฒนา และขาดความเชื่อมั่นในตัวเองในที่สุด

การแก้ไข ให้เริ่มจากการรับผิดชอบในสิ่งที่เราทำ ลองถามตัวเองว่า "เรามีส่วนไหนที่ทำให้เรื่องนี้เป็นแบบนี้?" การยอมรับความจริงไม่ใช่การทำให้ตัวเองดูแย่ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้เราได้เติบโต การเรียนรู้ที่จะพูดคุยอย่างเปิดใจ และไม่โยนความผิดไปให้คนอื่น จะช่วยให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น

แทนที่จะพูดว่า "ส่งคืนแล้วนี่คะ?" อาจเปลี่ยนเป็นคำพูดที่สุภาพและให้ความร่วมมือมากขึ้น เช่น

"ขอโทษด้วยนะคะ รบกวนตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งได้ไหมคะ? หากยังไม่ได้รับ รบกวนแจ้งด้วยนะคะ เดี๋ยวจะช่วยตรวจสอบให้ค่ะ"

การพูดแบบนี้จะทำให้ฝ่ายรู้สึกว่าคุณให้ความสำคัญและพร้อมช่วยเหลือ ทำให้การสื่อสารเกิดความเข้าใจและราบรื่นมากขึ้น

สำหรับคนที่ถูกตำหนิ อย่าลืมนะครับว่า บางทีคุณก็ไม่ได้ผิดเสมอไปหรอก บางครั้งการที่คนอื่นโทษคุณ อาจไม่ได้หมายความว่าคุณทำผิด แต่มันอาจหมายความว่าคนที่ตำหนิคุณกำลังมีปัญหากับตัวเอง ดังนั้นอย่าให้คำตำหนิทำลายความเชื่อมั่นในตัวเอง ลองเปิดใจคุยกับเขา (ถ้าเขาพร้อมจะเปิดใจกับคุณ) มันอาจช่วยลดความเข้าใจผิดและลดการตำหนิคุณลงได้

มาช่วยกันสร้างความเข้าใจ เรียนรู้จากความผิดพลาด และเติบโตไปพร้อมๆ กัน ✨ ความผิดพลาดนั้นคือครูที่ดีที่สุด และการยอมรับความจริงคือกุญแจสู่ความสำเร็จในอนาคต

ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่เผลอตำหนิคนอื่น หรือเป็นคนที่ถูกตำหนิบ่อยๆ อย่าลืมว่า การสื่อสารด้วยความเข้าใจ การยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง และการให้อภัย เป็นวิธีที่จะช่วยให้เราทุกคนเดินหน้าต่อไปได้ด้วยความสุข และความสัมพันธ์ที่มั่นคงขึ้น 💪💖

#softskills

Read more

ผีที่ว่าน่ากลัวยังไม่น่ากลัวเท่าแก๊งค์คอลเซนเตอร์

ผีที่ว่าน่ากลัวยังไม่น่ากลัวเท่าแก๊งค์คอลเซนเตอร์

จากกรณีที่น่ากังวลใจเกี่ยวกับการหลอกลวงนักศึกษาหลายร้อยคนโดย “แก๊งคอลเซนเตอร์” ซึ่งมาในรูปแบบที่ซับซ้อนและทำให้เชื่อถือได้ โดยแก๊งคอลเซนเตอร์อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี นักศึกษาหลายคนได้รับการติดต่อแจ้งว่าพวกเขาอาจมีความผิดตามกฎหมาย บทสนทนาหรื

By nutjari
รับมือให้ทัน สภาวะตกหลุมอากาศ

รับมือให้ทัน สภาวะตกหลุมอากาศ

Air Turbulence หลุมอากาศ คืออะไร? หลุมอากาศ หรือ Air Turbulence เป็นสภาวะที่อากาศมีการเคลื่อนไหวแบบไม่เป็นระเบียบ ทำให้เครื่องบินสั่นหรือเขย่าได้ หลายคนอาจรู้สึกเหมือนนั่งรถแล้วเจอลูกระนาดขนาดยักษ์! หลุมอากาศเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยระหว่างการบิน สาเหตุมาจากการที่เครื่องบินบิ

By Gigi Pr.
ถามให้ปัง! เคล็ดลับขุดลึกความต้องการเพื่อสร้างนวัตกรรมสุดล้ำ

ถามให้ปัง! เคล็ดลับขุดลึกความต้องการเพื่อสร้างนวัตกรรมสุดล้ำ

การตั้งคำถามที่ดีเป็นกุญแจสำคัญในการค้นหาความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย ช่วยสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพ

By อ.บอม GenEd.